Latest Articles

เข้าใจอาการปวดประเภทต่าง ๆ พร้อมแนวทางการรักษา

อาการปวดแบบต่าง ๆ รักษาให้ตรงจุด

อาการปวดมีหลากหลายประเภท ทั้งยังสามารถเกิดขึ้นได้กับอวัยวะแทบทุกส่วนในร่างกาย แต่อาการปวดเหล่านี้คืออะไรกันแน่ ทำความรู้จักกับอาการปวดรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้สามารถรับมือได้อย่างถูกวิธี

รู้จักอาการปวด สัญญาณเตือนที่ไม่ควรมองข้าม

อาการปวดคือสัญญาณเตือนของร่างกายว่ากำลังมีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้นในร่างกาย และคุณควรรีบรักษาหรือบรรเทาก่อนที่อาการเหล่านั้นจะร้ายแรงยิ่งกว่าเดิม โดยอาการปวดสามารถหายได้เองหากต้นเหตุอย่างอาการบาดเจ็บต่าง ๆ หายไป และสามารถหายโดยการบรรเทาด้วยยาบรรเทาอาการปวดหรือการรักษาวิธีต่าง ๆ ได้อีกด้วย

โดยอาการปวดแต่ละบริเวณ อาจเป็นสัญญาณที่บอกถึงโรคหรืออาการบาดเจ็บที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นการทำความรู้จักกับอาการปวดแต่ละชนิดจะช่วยให้คุณสามารถบรรเทาอาการปวดได้อย่างตรงจุด และสามารถสังเกตอาการตัวเองเพื่อไปพบแพทย์หรือเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที

อาการปวดแบ่งออกเป็นกี่ประเภท

อาการปวดสามารถแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 2 ประเภทตามลักษณะการเกิดดังนี้

ปวดเฉียบพลัน

อาการปวดเฉียบพลันอาจเกิดจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหรือกระดูกส่วนต่าง ๆ อย่างฉับพลัน โดยหากไม่ได้เป็นหนักมากอาการปวดประเภทนี้จะสามารถหายเองได้ภายในเวลาไม่นาน หลังจากที่ได้รับการบรรเทาด้วยยาหรือต้นเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดได้รับการรักษาเรียบร้อยแล้ว

อาการปวดเฉียบพลันในบางครั้งก็อาจเกิดจากการบาดเจ็บอย่างรุนแรงได้ จนต้องรีบส่งสัญญาณเตือนให้ร่างกายรับรู้ เช่น กระดูกหัก หรืออาการปวดหลังจากผ่าตัดเสร็จเป็นต้น

ปวดเรื้อรัง

อาการปวดเรื้อรังมักมีอาการอย่างต่อเนื่อง และแม้จะรักษาต้นเหตุไปแล้วแต่อาการก็อาจจะยังคงอยู่ รวมไปถึงอาจมีอาการอื่นๆ แทรกซ้อน หรือเป็นไปพร้อม ๆ กันได้ เช่น อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง อารมณ์แปรปรวน ตัวอย่างอาการปวดเรื้อรังเช่น อาการปวดหลังส่วนล่าง อาการปวดข้อที่เกิดจากโรคเก๊าท์หรือรูมาตอยด์

ในบางครั้งอาการปวดเรื้อรังก็อาจเกิดจากโรคหรือความผิดปกติอื่น ๆ อย่างโรคมะเร็ง หรือเส้นประสาทรับความรู้สึกเจ็บทำงานผิดปกติได้ ดังนั้นจึงต้องคอยควบคุมและบรรเทาอาการเจ็บด้วยวิธีการต่าง ๆ อยู่เสมอ ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการปวดเรื้อรังอาจมีภาวะซึมเศร้าหรือไวต่อความเจ็บมากกว่าปกติร่วมด้วย

ลักษณะอาการปวดแต่ละแบบบอกอะไรได้บ้าง

อาการปวดสามารถเกิดขึ้นได้กับแทบทุกอวัยวะในร่างกาย แล้วแต่ละอาการสามารถบอกหรือเป็นสัญญาณเตือนของอะไรได้บ้าง ไปดูพร้อม ๆ กัน

ปวดหัวศีรษะ

อาการปวดศีรษะทั้งอาการปวดหัวจี๊ด ๆ และอาการปวดหัวตุ๊บ ๆ อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นมีไข้ ความเครียด หรือไซนัส โดยอาการปวดหัวแต่ละบริเวณก็อาจเป็นสัญญาณของโรคที่แตกต่างกันไป เช่น

  • ปวดหัวข้างเดียว โดยปวดขมับข้างใดข้างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการปวดหัวขมับขวาหรือปวดหัวขมับซ้าย มักเป็นสัญญาณเตือนของโรคไมเกรน โดยอาจร้าวบริเวณตาและมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วยได้
  • ปวดขมับสองข้าง ปวดต้นคอ ลามไปถึงปวดท้ายทอยหรือปวดหัวด้านหลัง อาจเป็นสัญญาณของความเครียดที่ส่งผลให้กล้ามเนื้อเกร็ง
  • ปวดหัวบริเวณด้านหน้าใบหู อาจเป็นสัญญาณเตือนว่ากรามของคุณกำลังอักเสบ ซึ่งอาจส่งผลให้มีอาการกัดฟันตอนนอนได้อีกด้วย
  • ปวดหัวบริเวณโหนกแก้มหรือดั้งจมูก อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคไซนัสอักเสบได้
  • ปวดหัวรุนแรงหลายบริเวณที่ลามไปถึงการมองเห็นผิดปกติด้วย อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติบริเวณสมอง

ปวดหลัง

อาการปวดหลังมีหลายบริเวณทั้งปวดหลังส่วนล่างและปวดหลังระหว่างสบัก โดยอาจมีสาเหตุทั่ว ๆ ไปเช่นกล้ามเนื้ออักเสบ โรคข้ออักเสบต่าง ๆ แต่ก็อาจเกิดจากสาเหตุที่ไม่ค่อยพบมากอย่าง โรคหัวใจหรือปัญหาอื่น ๆ บริเวณช่องท้อง

ปวดท้อง

อาการปวดท้องสามารถเป็นสัญญาณเตือนได้หลายโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคกระเพาะ ลำไส้อุดตัน ไส้ติ่งอักเสบ หรือตับอ่อนอักเสบ โดยหากเป็นอาการปวดท้องไส้ติ่งอักเสบจะปวดบริเวณขวาล่างของช่วงท้องที่ต่ำกว่าสะดือ ในขณะที่การปวดจากตับอ่อนอักเสบจะปวดบริเวณใต้ลิ้นปี่และอาจร้าวไปถึงช่วงหลังได้ ทั้งนี้ในผู้หญิงก็อาจมีอาการปวดท้องจากประจำเดือนได้เช่นกัน

ปวดกล้ามเนื้อ

อาการปวดกล้ามเนื้ออาจเกิดมาจากการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา หรือการทำกิจกรรมเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้น ๆ อักเสบจนกลายเป็นอาการปวดขึ้นมา แต่ก็มีกรณีที่อาการรุนแรงเช่นติดเชื้อ หรือมีเนื้องอกเกิดขึ้นในบริเวณดังกล่าวได้ด้วย

ปวดข้อ

อาการปวดข้ออาจเกิดจากอาการบาดเจ็บต่าง ๆ หรืออาจเกิดจากโรคต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดการอักเสบหรือเสื่อมบริเวณข้ออย่างโรครูมาตอยด์ โรคเก๊าท์ รวมไปถึงโรคข้อเสื่อมก็ได้ อาการปวดข้อจากโรคเหล่านี้มักกลายเป็นอาการปวดเรื้อรังต่อไป

แนวทางการรักษาและบรรเทาอาการปวด

แนวทางการรักษาอาการปวดแบบต่าง ๆ สามารถสรุปออกมาได้เป็น 3 แนวทางดังนี้

ใช้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ

ยาแก้ปวดสำหรับบรรเทาอาการปวดหลักๆคือยากลุ่ม Coxibs ที่เป็นยารับประทานที่มีความจำเพาะสูงในการออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ Cox-2 ที่ทำให้เกิดการอักเสบ งช่วยบรรเทาอาการปวดต่าง ๆ เช่น อาการปวดกล้ามเนื้อ กระดูกหรือปวดหลังเรื้อรัง ปวดเฉียบพลันจนถึงปวดประจำเดือน อีกกลุ่มที่ใช้บรรเทาอาการปวดคือยาแก้ปวดดั้งเดิมซึ่งจะมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ Cyclo-oxygenase ทั้งประเภท COX-1 และ COX-2      

ปรับพฤติกรรมและทำกายภาพบำบัด

นอกจากการรับประทานยาเพื่อลดอาการปวดแล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อไม่ให้มีอาการบาดเจ็บเพิ่มรวมไปถึงการทำกายภาพบำบัดก็สามารถช่วยลดอาการบวมหรืออาการอักเสบได้ แต่อาจไม่สามารถช่วยบรรเทาอาการได้อย่างรวดเร็วและเห็นผลเท่าการใช้ยาบรรเทาอาการ เนื่องจากการรักษาด้วยวิธีนี้จะเน้นผลลัพธ์ที่การเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในระยะยาวมากกว่า

การรักษาและบรรเทาอาการโดยใช้วิธีนี้ร่วมไปกับการใช้ยาแก้ปวดจึงช่วยบรรเทาอาการปวดได้ทันทีและยังสามารถป้องกันโอกาสปวดซ้ำในอนาคตได้อีกด้วย

เข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษาที่ต้นเหตุ

ในกรณีที่ทำทั้ง 2 วิธีแล้วยังไม่หายการพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดก็อาจช่วยให้ได้แนวทางการรักษาอื่น ๆ ได้ เช่นในกรณีที่อาการปวดนั้นรุนแรงมากและต้องใช้การผ่าตัดเท่านั้นจึงจะแก้อาการอักเสบจากต้นเหตุได้ ทั้งนี้วิธีนี้ถือว่าเป็นวิธีสุดท้าย แนวทางในการรักษาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น


อยากบรรเทาอาการปวดแต่ไม่รู้ควรเริ่มอย่างไร? ยาตัวไหนจะช่วยบรรเทาอาการปวดได้อย่างตรงจุด? Medcare พร้อมให้บริการช่วยให้คุณได้ปรึกษากับเภสัชกรมืออาชีพผ่าน LINE Mini App

คลิกเพื่อใช้บริการ >> MedCare ปรึกษาเภสัชกรทันที

เอกสารอ้างอิง :

7 อาการปวดที่ไม่ควรมองข้าม., Available from: https://www.vibhavadi.com/Health-expert/detail/269

รู้จัก เข้าใจ เพื่อรับมือกับอาการปวด., Available from: https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/january-2007/pain-management

อาการปวดกล้ามเนื้อและกระดูก., Available from: https://www.medparkhospital.com/disease-and-treatment/musculoskeletal-pain

ปวดหัวตรงไหน บอกอะไร., Available from: https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/infographic/ปวดหัวตรงไหน-บอกอะไร/

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง