Latest Articles

ยาแก้แพ้ ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย บรรเทาอาการได้อย่างเห็นผล

ทำความรู้จักยาแก้แพ้

คัดจมูก น้ำมูกไหล มีผื่นภูมิแพ้ขึ้นทำอย่างไรดี? อากาศเปลี่ยนทีไรก็มีอาการแพ้ตามมาตลอด ออกจากบ้านไปเจอฝุ่นควันก็ภูมิแพ้กำเริบ หากอยากแก้ปัญหานี้ก็คงหนีไม่พ้นการใช้ยาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการ แต่จะเลือกใช้ยาแก้แพ้อย่างไรให้ได้ผล ควรเลือกใช้ยาแก้แพ้อย่างไรจึงจะบรรเทาอาการได้ตรงจุด มาทำความรู้จักกับยาแก้แพ้แต่ละชนิดและวิธีใช้ยาแก้แพ้ที่ถูกต้องไปพร้อม ๆ กันในบทความนี้

ยาแก้แพ้คืออะไร

ยาแก้แพ้ คือ ยาที่มีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการแพ้ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาการจาม คัดจมูก มีน้ำมูก ไอ อาการคัน มีผื่นขึ้น ไปจนถึงลมพิษ โดยประสิทธิภาพของตัวยาจะขึ้นอยู่กับประเภทของยาแก้แพ้ที่ใช้ว่าเหมาะสมกับกลุ่มอาการดังกล่าวหรือไม่ และอาจมีผลข้างเคียงที่แตกต่างกันไป 

ดังนั้นการทำความรู้จักกับยาแก้แพ้แต่ละชนิดจะช่วยให้สามารถเลือกยาแก้แพ้ที่เหมาะสม ช่วยบรรเทาอาการแพ้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ยาแก้แพ้มีกี่ชนิด อะไรบ้าง

ยาแก้แพ้สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่

1. ยาแก้แพ้ดั้งเดิมในกลุ่ม conventional antihistamines

ยาแก้แพ้แบบดั้งเดิม เป็นยาแก้แพ้ที่มีผลทำให้ง่วงซึมหลังใช้ เนื่องจากตัวยาประเภทนี้จะถูกดูดซึมผ่านกระแสเลือดแล้วเข้าสู่สมองได้ง่าย จึงมีฤทธิ์กดประสาทและส่งผลให้เกิดอาการง่วงซึมตามมาได้ 

นอกจากอาการง่วงซึมแล้ว ยาแก้แพ้แบบดั้งเดิมอาจส่งผลให้มีอาการข้างเคียงอื่น ๆ เช่น ท้องผูก คอแห้ง มือเท้าบวม หรือปัสสาวะคั่งได้อีกด้วย เนื่องจากยาแก้แพ้แบบดั้งเดิมถูกดูดซึมได้เร็ว ร่างกายจึงมีโอกาสดูดซึมตัวยามากเกินไปและเกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ ได้

ยาแก้แพ้ชนิดนี้มีข้อดีที่ออกฤทธิ์รวดเร็ว แต่ก็มีข้อเสียคือหมดฤทธิ์เร็วด้วยเช่นกัน ทำให้ต้องรับประทานยาหลายครั้งใน 1 วัน ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ได้แก่ บรอมเฟนิรามีน (brompheniramine), คลอเฟนิรามีน (chlorpheniramine), ไดเมนไฮดริเนต (dimenhydrinate) และไฮดรอกไซซีน (hydroxyzine) เป็นต้น

2. ยาแก้แพ้รุ่นใหม่ในกลุ่ม non-sedating antihistamines

ยาแก้แพ้รุ่นใหม่ เป็นยาแก้แพ้ที่ไม่ทำให้ง่วง เนื่องจากมีการพัฒนาตัวยาให้ผ่านเข้าสู่สมองได้ยาก และผ่านเข้าไปเพียงปริมาณน้อยหรือบางครั้งก็ไม่ผ่านเข้าไปเลย  จึงไม่ส่งผลให้ง่วงซึม และมีผลข้างเคียงต่าง ๆ น้อยกว่ายาแก้แพ้แบบดั้งเดิม 

ยาแก้แพ้รุ่นใหม่จึงมีข้อดีที่ความปลอดภัยสูงกว่า โอกาสเกิดผลข้างเคียงน้อย ไม่ทำให้ง่วงและยังออกฤทธิ์ได้อย่างต่อเนื่องตลอดวัน จึงรับประทานเพียงครั้งเดียวใน 1 วันก็เพียงพอ 

ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ได้แก่ ไบแลสทีน (bilastine), เซทิริซีน (cetirizine), เลโวเซทิริซีน (levocetirizine) และลอราทาดีน (loratadine) เป็นต้น

ยาแก้แพ้ใช้รักษาอาการอะไรได้บ้าง

ยาแก้แพ้หรือยาแก้ภูมิแพ้สามารถรักษาได้หลายอาการ ขึ้นอยู่กับชนิดของยาที่เลือกใช้ แบ่งออกเป็นการรักษาอาการดังต่อไปนี้

  • ยาแก้แพ้ลดน้ำมูก ช่วยรักษาอาการคันจมูก คัดจมูก มีน้ำมูก จาม ซึ่งอาจเกิดจากการแพ้อากาศแพ้ฝุ่น แพ้เกสรดอกไม้ หรือการแพ้ที่เกิดจากการสัมผัสสัตว์เลี้ยงก็ได้ สำหรับคนที่มองหายาแก้ภูมิแพ้อากาศหรือยาแก้แพ้ฝุ่นก็ควรเลือกใช้ยาแก้แพ้ที่มีฤทธิ์เป็นยาลดน้ำมูกแก้แพ้ เช่นยาแก้แพ้ไบแลสทีน ยาแก้แพ้บรอมเฟนิรามีน หรือยาแก้แพ้เม็ดสีเหลืองอย่างคลอเฟนิรามีน
  • ยาแก้แพ้แก้คัน ช่วยรักษาอาการผื่นคันต่าง ๆ ไปจนถึงผื่นลมพิษ ไม่ว่าจะเป็นผื่นที่เกิดจากการสัมผัสแมลง โดนแมลงกัดต่อย หรือไปสัมผัสโดนสารเคมีต่าง ๆ ก็สามารถบรรเทาอาการได้ เช่น ยาแก้แพ้ไบแลสทีน และยาแก้แพ้ไฮดรอกไซซีน (ทั้งนี้การใช้ยาไฮดรอกไซซีนมีผลกดประสาทจึงไม่ควรใช้กับเด็กเล็ก)

รูปแบบของยาแก้แพ้มีอะไรบ้าง ต่างกันอย่างไร

รูปแบบยาแก้แพ้ที่พบเห็นได้ทั่วไปประกอบไปด้วย

  • ยาแก้แพ้แบบเม็ด เหมาะสำหรับช่วยบรรเทาอาการแพ้ในเด็กที่โตแล้วและวัยผู้ใหญ่
  • ยาแก้แพ้แบบน้ำเชื่อม เหมาะสำหรับช่วยบรรเทาอาการแพ้ในเด็กเล็ก

นอกจากยาแก้แพ้แบบรับประทานแล้ว บางครั้งก็อาจมียารูปแบบอื่น ๆ ที่ช่วยบรรเทาอาการแพ้ได้อีกเช่นกันเช่นยาพ่นจมูก ที่มีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการแพ้บริเวณจมูกโดยตรง

แนวทางการใช้ยาแก้แพ้

การใช้ยาแก้แพ้ควรปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้

  • ใช้ยาแก้แพ้เมื่อมีอาการแพ้เท่านั้น หากอาการทุเลาลงแล้วหรือไม่มีอาการให้หยุดใช้ยา
  • ควรอ่านฉลากวิธีใช้ยาหรือปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนทุกครั้ง เพราะยาแก้แพ้แต่ละชนิดมีปริมาณที่และช่วงเวลาที่ควรใช้แตกต่างกัน
  • หากเป็นยาแก้แพ้รูปแบบรับประทานให้ดื่มน้ำเปล่าตาม อย่ารับประทานร่วมกับแอลกอฮอล์หรือน้ำผลไม้

ข้อควรระวังในการใช้ยาแก้แพ้

ข้อควรระวังในการใช้ยาแก้แพ้ได้แก่

  • ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับตับและไตต้องแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง
  • คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนใช้ยาแก้แพ้
  • หากรับประทานยาแก้แพ้แล้วมีอาการง่วงซึมให้หลีกเลี่ยงการขับรถ หรือการทำกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้เช่นการทำงานในโรงงาน
  • หลังรับประทานยาแก้แพ้ให้คอยสังเกตอาการตนเอง หากมีผลข้างเคียงอย่างมือเท้าบวม ปัสสาวะคลั่ง ไปจนถึงหมดสติ ให้หยุดการใช้ยาและไปพบแพทย์

ยาแก้แพ้ตัวไหนดีเหมาะกับเรา? อยากได้ยาแก้แพ้ที่ตรงกับอาการตนเองแต่ไม่รู้จะเลือกอย่างไร?

Medcare พร้อมให้บริการช่วยให้คุณได้ปรึกษากับเภสัชกรมืออาชีพผ่าน LINE Mini App เเละจัดหาตัวแทนไปรับยาร้านขายยามาตรฐานเพื่อนำไปส่งให้ที่บ้านของคุณได้อย่างสะดวก ปลอดภัย ไร้กังวล

คลิกเพื่อใช้บริการ >> MedCare ปรึกษาเภสัชกรทันที รับยาดีทันใจ


References :

ภญ.นันทพร เล็กพิทยา., การใช้ยาแก้แพ้ให้ถูกวิธี สำหรับคนเป็นจมูกอักเสบภูมิแพ้., Available from : www.rama.mahidol.ac.th/atrama/issue048/rama-rdu

คุณรู้จักยาแก้แพ้มากแค่ไหน ?., Available from : www.phyathai.com/th/article/2735-คุณรู้จักยาแก้แพ้มากแ

นพ.วีระยุทธ บุญเกียรติเจริญ., แพ้แบบไหน ถึงกินยาแก้แพ้., Available from : www.paolohospital.com/th-TH/rangsit/Article/Details/บทความเกี่ยวกับยา/แพ้แบบไหน-ถึงกินยาแก้แพ้

ยาแก้แพ้คลอร์เฟนิรามีน., Available from : www.doctor.or.th/article/detail/5849

ยาแก้แพ้กลุ่มที่ทำให้ง่วงและไม่ง่วง รักษาอาการแพ้ได้เหมือนกันจริงหรือ?., Available from : https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/knowledge_full.php?id=27